รายละเอียด
ชื่อทุน:
ทุนวิจัยเพื่อริเริ่มการวิจัยขั้นแนวหน้าประเทศไทยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หน่วยงาน:
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
ระยะเวลารับสมัคร:
วันที่ 7 ธันวาคม 2563 – 5 กุมภาพันธ์ 2564 (ยื่นข้อเสนอโครงการผ่านระบบ NRIIS)
วงเงินที่ให้การสนับสนุน:
ไม่จำกัดวงเงินงบประมาณ โดยต้องเหมาะสมกับปริมาณงานและวิธีการดำเนินงานวิจัย
(ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี)
รายละเอียด:
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม แห่งชาติ(สอวช.) ได้รับมอบหมายจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการบริหารจัดการทุนวิจัยภายใต้แผนงาน ข้อริเริ่มการวิจัยขั้นแนวหน้าประเทศไทย ภายใต้ โปรแกรมที่ 5 ส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้าและการวิจัยขั้นพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้/สร้างองค์ความรู้ขั้นแนวหน้าที่เป็นเลิศ และนำไปสู่การยกระดับความสามารถในการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ สามารถส่งผลให้นักวิจัยไทยได้ร่วมงานวิจัยกับหน่วยงาน/สถาบันวิจัยชั้นน าระดับนานาชาติสามารถสร้างเครือข่ายงานวิจัยขั้นแนวหน้าของโลก และทำให้ประเทศได้มีโอกาสพัฒนา/เป็นเจ้าของเทคโนโลยีชั้นสูงที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
กรอบ / ประเด็นให้การสนับสนุน:
- การวิจัยที่มุ่งสร้างองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า (frontier research) ซึ่งอาจเป็นการศึกษาวิจัยในเชิงลึกในเรื่องที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนในสาขาใดสาขาหนึ่ง หรือมีการทำงานร่วมกันในหลายสาขาวิชาทั้งแบบพหุสาขาวิชา (multidisciplinary) หรือสหสาขาวิชา (interdisciplinary) สำหรับประเด็นที่ยังหาคำตอบไม่ได้หากใช้วิธีการหรือกระบวนการวิจัย (methodology) ตามแบบที่มีอยู่ หรือเป็นงานวิจัยที่ใช้แนวความคิด วิธีการหรือกระบวนการวิจัย ที่ไม่ได้เป็นวิธีการปกติในสาขาวิชานั้น ๆ โดยงานวิจัยดังกล่าวทำให้เกิดผลที่ได้อาจคาดไม่ถึงและนำไปสู่การท้าทายแนวความคิดหรือความรู้หลัก (dominant paradigm) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
คุณสมบัติของผู้ขอรับทุน:
- ผู้รับผิดชอบโครงการมีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างประจักษ์ มีประสบการณ์การบริหารจัดการงานวิจัยและการดำเนินการวิจัย และคาดว่าจะสามารถปฏิบัติงานและควบคุมการวิจัยได้ตลอดเวลาการรับทุนภายในระยะเวลาที่กำหนด
- นักวิจัยจากแต่ละสถาบันจะต้องมีหนังสือรับรอง (letter of support) จากสถาบันต้นสังกัด ที่ลงนามโดยผู้มีอำนาจลงนามของสถาบัน เช่น อธิการบดีหรือ ผู้ได้รับมอบอำนาจ หรือผู้รับผิดชอบการบริหารงานสถาบันนั้น
เงื่อนไข:
- โครงการวิจัยอาจจัดอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่ง ซึ่งควรอธิบายความสำคัญให้ชัดเจน ดังนี้
- การวิจัยเพื่อบุกเบิกความรู้พื้นฐานอย่างใหม่ ซึ่งเป็นความรู้ที่มีความสำคัญต่อสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือพหุสาขาวิชาหรือสหสาขาวิชา แม้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เชิงประยุกต์หรือปฏิบัติในปัจจุบันอย่างชัดเจน แต่มีคุณค่าทางวิชาการ โดยแสดง roadmap การดำเนินงานวิจัยและผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในแต่ละช่วง เพื่อแสดงคุณค่าทางวิชาการและเหตุผลอันสมควรที่จะให้การสนับสนุน
- การวิจัยเพื่อตั้งโจทย์ที่อาจยังไม่ชัดเจนในปัจจุบัน แต่ผู้วิจัยเห็นว่าสำคัญในอนาคตอันใกล้ไม่ใช่การค้นหาหรือวางรากฐานความรู้ (foundational) ที่จำเป็นต้องมีอยู่แล้ว และไม่ใช่การประยุกต์ใช้งานความรู้โดยสำเร็จรูปหรือต่อเติมเพียงเล็กน้อย (incremental) หรือการวิจัยเพื่อประยุกต์ใช้แต่เป็นการวิจัยขั้นแนวหน้า (frontier research) เพื่อเปิดขอบเขตความรู้ใหม่
2. โครงการวิจัยอาจมีลักษณะทางสาขาวิชาอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- เป็นโครงการที่อยู่ในขอบเขตของสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่ง หรือ
- เป็นโครงการที่เน้นประเด็นให้เกิดการทำงานร่วมกัน ซึ่งมีลักษณะการวิจัยแบบพหุสาขาวิชา หรือสหวิทยาการ
3. โครงการวิจัยควรมีคำอธิบายให้ชัดเจนถึงที่มาและความสำคัญของประเด็นปัญหาในการวิจัย ซึ่ง สอดคล้องกับประเภทของโครงการวิจัยตามข้อ 1. ดังนี้
- มีการนิยามและอธิบายว่า ประเด็นในการวิจัยเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งยังไม่มีความรู้และ/หรือการวิจัยมาก่อน หรือมีแต่ไม่ชัดเจนในข้อสรุปว่าเป็นอย่างไร หรืออาจเป็นประเด็นเดิม แต่เมื่อบริบทเปลี่ยนไป จำต้องมีการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพราะอะไร อย่างไร
- มีการอธิบายให้เห็นว่า เพราะเหตุใดองค์ความรู้ในแบบเดิมจึงไม่สามารถตอบประเด็นปัญหาดังกล่าวได้และจำเป็นต้องมีโครงการวิจัยดังที่นำเสนอ เพื่อสร้างองค์ความรู้ในทิศทางหรือจุดเน้นอย่างใหม่
- มีการอธิบายชัดเจนว่า สถานภาพขององค์ความรู้และการวิจัยในปัจจุบันเป็นอย่างไร และยังมีช่องว่างของการวิจัย (research gap) อย่างไร
- มีการนำเสนอว่าจะสามารถเติมเต็มช่องว่างของการวิจัย หรือทำให้สถานภาพขององค์ความรู้เดิมก้าวหน้าได้อย่างไร ซึ่งควรลงรายละเอียดเป็นประเด็นชัดเจน และอยู่ในขอบเขตของโครงการวิจัยที่นำเสนอ มิใช่ประเด็นใหญ่ที่กว้างมากเกินไป หรือมีความเป็นทั่วไปมากเกินไปจนเห็นบริบทการใช้ผลการวิจัยได้ไม่ชัดเจน
- มีการระบุหรืออธิบายกรอบคิดหรือทฤษฎีที่ใช้เป็นฐานในการวิจัย
- มีการระบุผลผลิต (output) ให้ชัดเจนว่า ผลผลิตของโครงการคืออะไร สำคัญอย่างไร
- มีการระบุอย่างชัดเจนโดยมีรายละเอียดว่า ผลผลิตของโครงการวิจัยจะสามารถก่อให้เกิดองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า (frontier research) ในด้านใด เพียงใด อย่างไร
ติดต่อสอบถาม:
โทรศัพท์: 02-470-7961-3
E-mail: pmu.b@nxpo.or.th