บทความโดย : รัชกฤช คล่องพยาบาล
กรรมการชุดโครงการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (RCU)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
จากตอนที่ผ่านมาในเรื่องการยอมรับมาจากลูกค้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญเกี่ยวกับโอกาสที่ลูกค้าจะยอมรับหรือซื้อผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย ถ้ามีการผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ อันมาจากวิธีการเลือกกลุ่มทดสอบที่สามารถเป็นตัวแทนของลูกค้าได้ ซึ่งแม้ว่าจะดูเป็นขั้นตอนที่ไม่มีความซับซ้อนหรือยุ่งยากในทางปฏิบัติ แต่กลับพบเสมอว่าเป็นขั้นตอนที่นักวิจัยมักละเลยการเลือกกลุ่มทดสอบที่ถูกต้อง หรือมีความเหมาะสม กับประเด็นหรือเรื่องที่จะทดสอบ ในตอนนี้จะเป็นเรื่องแนวคิดเบื้องหลังเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยออกสู่ตลาด ในด้านการผสมผสานแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ และแนวคิดทางการตลาดเข้าด้วยกัน อันจะทำให้งานวิจัยมีประเด็นความเชื่อมโยงสำหรับการสร้างโอกาสในเชิงพาณิชย์
7. แนวคิด 3SB ที่เกี่ยวข้อง
แนวคิด 3SB ที่กล่าวถึงนี้ ผู้เขียนได้รับฟังจากคุณวัชรพล บุญหลาย จากบริษัทเมดิฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุดโครงการ Innovative House โดยแนวคิด 3SB หรือ 3S ที่คุณวัชรพลได้กล่าวถึง และผู้เขียนได้มาประยุกต์อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดนี้ เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการสร้างแนวคิดสำหรับการพัฒนาผลงานวิจัย ในเชิงการผสมผสานแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ และแนวคิดทางการตลาดเข้าด้วยกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรม ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย หรือแม้แต่ผู้ประกอบการทั่วไปก็ตาม
Story Behind ซึ่งเป็น SB ตัวแรกในแนวคิดนี้ คือ ทุกงานวิจัยควรจะมี “เรื่องราว” มารองรับถึงเหตุผลหรือความเกี่ยวข้องกับงานวิจัย หรือเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากงานวิจัย ตัวอย่างเช่น กรณีที่มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยใช้จุดขายที่มีจากคุณสมบัติของวัตถุดิบ คุณสมบัติดังกล่าวของวัตถุดิบอาจเคยถูกระบุไว้ในตำราโบราณ การยอมรับหรือความเชื่อของผู้บริโภคเกี่ยวกับสรรพคุณ คุณค่าทางโภชนาการที่เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป หรืออาจเป็นประวัติความเป็นมาของวัตถุดิบที่ผู้ประกอบการที่เลือกใช้ หรือเป็นกระบวนการเพาะปลูกวัตถุดิบที่มีความพิเศษหรือมีลักษณะเฉพาะ หรือในอีกกรณีหนึ่งอาจเป็นประวัติความเป็นมาของธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือสินค้าอาจมีชื่อเสียงหรือได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมาเป็นเวลาอย่างยาวนาน หรืออาจเป็นเรื่องของแนวคิดต่างๆที่เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการ เกี่ยวกับเหตุผลหรือความสำคัญของการวิจัยนี้ในเชิงธุรกิจ ซึ่ง “เรื่องราว” ต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้เมื่องานวิจัยพัฒนาแล้วเสร็จ สามารถเชื่อมโยงให้ผู้บริโภคได้รับรู้รับทราบถึงที่มาหรือ “เรื่องราว” ของผลิตภัณฑ์ได้ อันจะเป็นประโยชน์ในการวางกลยุทธ์ทางการตลาด โดยเฉพาะด้านการสื่อสารไปยังผู้บริโภคได้โดยง่าย การใช้ Story Behind เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความพิเศษจากที่มาหรือ “เรื่องราว” ของผลิตภัณฑ์ อันเป็นปัจจัยด้าน emotion ที่ใช้เป็นปัจจัยสร้างความสนใจ สำหรับการเลือกซื้อหรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าประเภท consumer goods หรือธุรกิจ B2C
Science Backup หลังจากที่งานวิจัยมี “เรื่องราว” หรือมี Story Behind สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรื่องราวดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ ก็คือการใช้งานวิจัยหรือการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามารองรับ หรือสามารถพิสูจน์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเรื่องราวดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติ สรรพคุณ โภชนาการ ประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากงานวิจัย หรือแง่มุมอื่นๆ ต่อผู้บริโภคหรือผู้ใช้งาน โดยการพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็นปัจจัยด้าน function หรือด้าน safety ที่ใช้เป็นปัจจัยการเลือกซื้อหรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค จากข้อมูลทางวิชาการหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นส่วนสำคัญในการพิจารณา ทั้งกลุ่มสินค้าประเภท consumer goods หรือธุรกิจ B2C และกลุ่มสินค้าประเภท intermediary goods ที่ใช้ในอุตสาหกรรม หรือสินค้าสำหรับธุรกิจ B2B
Sustain Build เป็น SB ตัวสุดท้าย คือ การสร้างความยั่งยืน ซึ่งเกิดจากวิธีการดำเนินการของผู้ประกอบการที่จะนำผลงานวิจัยออกสู่ตลาด ด้วยการใช้แนวคิด Story Behind ร่วมกับ Science Backup ได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสม รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการ หรือสามารถแก้ปัญหาของผู้บริโภคหรือผู้ใช้งาน การควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติที่คงที่สม่ำเสมอ การพัฒนามาตรฐานและกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในด้านต้นทุน เวลา หรือมาตรฐานต่างๆ ในระดับสากล ย่อมทำให้ธุรกิจสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจผู้บริโภค มคุณภาพและความน่าเชื่อถือ สามารถขยายตลาดออกไป เพื่อสร้างความยั่งยืนของธุรกิจ จากการใช้ประโยชน์ผลลัพธ์จากงานวิจัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต
8. ศึกษาเทรนด์
สิ่งหนึ่งที่นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยทั่วไป มักมองข้ามหรือไม่ให้ความสนใจ คือ การศึกษาแนวโน้มหรือการศึกษาเทรนด์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค อาจเพราะเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวิจัย หรือศาสตร์ของตนเอง โดยมักให้ความสนใจกับการศึกษาองค์ความรู้ใหม่ หรือเทคโนโลยีใหม่จาก journal หรือวารสารวิชาการในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือให้ความสนใจเฉพาะประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสำคัญ มากกว่าให้ความสนใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มหรือเทรนด์ต่างๆ ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องของการตลาด
การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มและเทรนด์ต่างๆ ของผู้บริโภคนี้ จะทำให้ผลลัพธ์ของงานวิจัยแม้ว่าจะพิสูจน์ได้ในเชิงเทคโนโลยี หรือเชิงวิชาการ แต่รูปแบบของผลิตภัณฑ์หรือผลลัพธ์จากจากงานวิจัยซึ่งมีที่มาในลักษณะนี้ มักเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน ที่อาจพบเห็นได้จากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาด โดยขาดความแตกต่างด้านคุณค่าที่ผู้บริโภคสามารถรับรู้รับทราบได้ เนื่องจากไม่ตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือขาดปัจจัยที่เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคหรือลูกค้า เลือกซื้อหรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
การศึกษาแนวโน้มหรือเทรนด์ต่างๆ นอกจากเป็นด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ยังเป็นเรื่องของการคาดการณ์ถึงลักษณะของผลิตภัณฑ์ในอนาคตอีกด้วย เนื่องจากในบางอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม แนวโน้มหรือเทรนด์ต่างๆ ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกาหรือในยุโรป อาจเป็นแนวโน้มหรือเทรนด์ที่เกิดขึ้นก่อนผู้บริโภคในประเทศไทยประมาณ 2-3 ปี ความเข้าใจถึงแนวโน้มหรือเทรนด์ดังกล่าว จะทำให้นักวิจัยหรือผู้ประกอบการสามารถสร้างโจทย์วิจัย หรือพัฒนางานวิจัยให้สามารถรองรับแนวโน้มของผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้พอดี เนื่องจากในกระบวนการวิจัยสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั่วไป อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี เมื่อรวมกับช่วงเวลาการถ่ายทอดเทคโนโลยี การขยายขนาดกำลังการผลิต และปรับกระบวนการให้เข้ากับการผลิตเชิงพาณิชย์อีกประมาณ 1 ปี ดังนั้นถ้านักวิจัยหรือผู้ประกอบการศึกษาเทรนด์หรือแนวโน้มดังกล่าว และมีการวางแผนรวมถึงตั้งเป้าหมายการวิจัยอย่างถูกต้อง ผลิตภัณฑ์หรือผลลัพธ์จากงานวิจัยที่นำออกสู่ตลาด จะมีความทันสมัยและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในช่วงเวลาดังกล่าวพอดี อันเป็นข้อได้เปรียบสำคัญทางการแข่งขันกับสินค้าอื่นๆในตลาด ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมจะมีการเผยแพร่บทความเกี่ยวกับแนวโน้มหรือเทรนด์ดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เช่น งานวิจัย Mintel ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งมีการระบุแนวโน้มหรือเทรนด์ทั้งด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ลักษระผลิตภัณฑ์ในอนาคต รวมถึงยังมีการจำแนกเป็นรายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีกลุ่มลูกค้าหรือผู้บริโภคสำคัญ เช่น ประเทศจีน อีกด้วย
นอกจากนี้ในประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักวิจัย ที่ให้ความสนใจเฉพาะประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก กระบวนการวิจัยหรือเทคโนโลยีที่นักวิจัยเลือกใช้ มักเลือกใช้เทคโนโลยีที่ระบุไว้ตามวารสารวิชาการเป็นวิธีการอ้างอิงในการวิจัย ซึ่งมักเป็นวิธีการที่มีความใหม่ หรือความก้าวหน้ากว่าเทคโนโลยีที่มีการใช้โดยทั่วไปในประเทศไทย หรือแตกต่างจากเทคโนโลยีหรือกระบวนการ ที่ผู้ประกอบการมีอยู่หรือดำเนินการอยู่ อันเนื่องมาจากความ “ใหม่” ซึ่งเป็นหัวใจของบทความที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ ทั้งนี้สาเหตุดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น นักวิจัยมีเป้าหมายเพื่อการตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าวในอนาคต หรืออาจเป็นเพราะเชื่อว่าวิธีการอ้างอิงดังกล่าว เป็นวิธีการซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการ โดยอาจลืมไปว่าเป้าหมายของการวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม คือ ผลลัพธ์ของงานวิจัยต้องสามารถนำไปผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ หรือถูกนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ไม่ใช่ประเด็นเพื่อการตีพิมพ์ผลงานวิจัย ดังนั้นการเลือกเทคโนโลยีที่ระบุไว้ตามวารสารวิชาการ นักวิจัยควรพิจารณาเกี่ยวกับเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับบริบทของผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลงทุนเทคโนโลยีใหม่ เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงของผู้รับเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ และมักพบว่าผู้ประกอบการมักเลือกที่จะไม่ลงทุนในเรื่องดังกล่าว อันจะทำให้งานวิจัยนี้มีโอกาสที่จะเกิดการสูญเปล่าเนื่องจากไม่มีผู้นำไปใช้ประโยชน์
ในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของ 10 ประเด็นการพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม จะเป็นประเด็นที่ 9 คือ เรื่องของต้นทุน ที่มีวิธีคิดที่มีความแตกต่างกันระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในการวางแผนด้านการลงทุนของผู้ประกอบการ สำหรับการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และประเด็นสุดท้าย คือการจบงานวิจัย อันเป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดขึ้น