บทความโดย : รัชกฤช คล่องพยาบาล
กรรมการชุดโครงการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (RCU)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
จากตอนที่ผ่านมาได้กล่าวถึงเรื่องของความเข้าใจในการทำงานวิจัยเพื่อ B2B หรือ B2C ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยสามารถกำหนดระเบียบวิธีวิจัย (research methodology) หรือกิจกรรมที่ควรมีในการวิจัย ซึ่งจะช่วยให้ผลลัพธ์จากงานวิจัยมีความพร้อมที่จะนำไปผลิต หรือจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงสามารถกำหนดงบประมาณวิจัยที่เหมาะสมให้ครอบคลุมกิจกรรมที่จำเป็น ซึ่งจะเกิดขึ้นในกระบวนการวิจัย ในตอนนี้จะเป็นเรื่องของเป้าหมายหรือเป้าประสงค์ของการวิจัย ว่าการดำเนินการวิจัยที่ดำเนินการต้องการผลลัพธ์หรือ outcome ในลักษณะใด รวมถึงความคาดหวังถึง Solution หรือผลลัพธ์จากงานวิจัยของผู้เกี่ยวข้อง
4. งานวิจัยเพื่อสร้างจุดขายหรือเสริมจุดแข็ง
จากกการที่นักวิจัยเข้าใจถึงลักษณะของงานวิจัย ว่าเป็นการวิจัยเพื่อธุรกิจ B2B หรือ B2C ตามที่กล่าวมาในตอนที่แล้ว สิ่งที่นักวิจัยควรต้องทำความเข้าใจในลำดับต่อไป คือ เหตุผลสำหรับการต้องทำงานวิจัยนี้ หรือควรสามารถคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ของงานวิจัย ว่าจะส่งผลอย่างไรกับธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยสามารถแบ่งเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เข้าใจได้โดยง่ายเป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือ งานวิจัยนี้ช่วยสร้าง “จุดขาย” หรือ ช่วยเสริม “จุดแข็ง” ให้กับผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการอย่างไร
“จุดขาย” ในที่นี้จะหมายถึง ปัจจัยหรือสิ่งที่ลูกค้าของผู้ประกอบการ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งผู้บริโภคทั่วไปในกรณีเป็นงานวิจัยเพื่อธุรกิจ B2C หรือเป็นธุรกิจอื่นในอุตสาหกรรม ถ้าเป็นงานวิจัยเพื่อธุรกิจ B2B ใช้ในการพิจารณาในการตัดสินใจซื้อสินค้า หรือเป็นเหตุผลสำคัญในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่พัฒนาจากงานวิจัย อันเป็นสิ่งที่ธุรกิจใช้สำหรับการแข่งขันกับธุรกิจอื่น ๆ ที่มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เดียวกัน ทั้งที่มาจากผู้ผลิตภายในประเทศ หรือจากผู้ผลิตต่างประเทศก็ตาม กล่าวอีกนัยหนึ่งตามความหมายของการจัดการเชิงกลยุทธ์ก็คือ งานวิจัยนี้เป็นสิ่งที่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน (competitive advantage) ให้กับธุรกิจของผู้ประกอบการนั่นเอง
ในขณะที่ “จุดแข็ง” จะหมายถึง ปัจจัยหรือความสามารถ หรือความเชี่ยวชาญหลักที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของผู้ประกอบการ ที่ใช้ในการแข่งขันกับธุรกิจอื่น อันเกิดจากคุณสมบัติของสินค้า ราคาหรือต้นทุน กระบวนการผลิต เป็นต้น ที่ผู้ประกอบการเห็นว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ หรือในบางครั้งผู้ประกอบการอาจมองลึกลงไปว่ายังเป็น “จุดอ่อน” ของธุรกิจ อย่างไรก็ตามถ้าประเด็นดังกล่าวเป็น “จุดอ่อน” จริง ๆ ก็อาจไม่เหมาะสมนักกับการทำงานวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นปัญหาเฉพาะหน้า หรือปัญหาเร่งด่วนของธุรกิจ การใช้แนวทางการแก้ไขด้วยกระบวนการที่ปรึกษา (consultant) หรือผู้เชี่ยวชาญ (expert) อาจมีความเหมาะสมกว่า เนื่องจากงานวิจัยใช้เวลานานพอสมควร และผลลัพธ์จากงานวิจัยเมื่อแล้วเสร็จ อาจไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือปัญหาเร่งด่วนนั้นได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้องค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ หรือทักษะความชำนาญมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา หรือปัญหานั้นอาจมีอยู่เพียงบางช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากผลลัพธ์ของงานวิจัยที่อาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามต้องการ
ในด้านจุดขายที่จะเกิดขึ้นจากงานวิจัย ถ้าเป็นกรณีของผลิตภัณฑ์ของธุรกิจ B2C จุดขายส่วนใหญ่จะมาจากประสิทธิภาพ คุณภาพ คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ ในกรณีที่เป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งอาจรวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารทางการแพทย์ อาจเป็นเรื่องของ รสชาติใหม่ เนื้อสัมผัสใหม่ กลิ่นหอมใหม่ รูปลักษณ์ใหม่ คุณสมบัติทางโภชนาการใหม่ ประโยชน์ด้านสุขภาพใหม่ การเก็บรักษาได้นานขึ้น ความสะดวกในการบริโภค อันเกิดจากเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ในกระบวนการวิจัยที่สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือถ้าเป็นอุตสาหกรรมอื่นที่มีการใช้เทคโนโลยีระดับสูง หรือต้องการความเป็นนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์มากกว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อาจเป็นประเด็นด้านประสิทธิภาพที่ดีกว่า หรือเหนือกว่าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ หรืออาจมีประสิทธิภาพที่เทียบเท่าหรือใกล้เคียง แต่มีราคาจำหน่ายหรือต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า เพื่อใช้สำหรับการทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์หรือสินค้าจากต่างประเทศ ดังนั้นงานวิจัยที่นักวิจัยได้ดำเนินการ ต้องสามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า “จุดขาย” จากงานวิจัยดังกล่าวนั้นอยู่ในเรื่องใด เพื่อที่ผู้ประกอบการจะสามารถนำผลลัพธ์จากงานวิจัยนั้น ไปใช้แสดงให้ลูกค้ารับทราบประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยนั้นได้
ในขณะที่ถ้าเป็นกรณีของผลิตภัณฑ์ของธุรกิจ B2B จุดขายมักอยู่ในเรื่องของคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ ที่ดีกว่า หรือเหนือกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายอยู่เดิมในอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่จะมีเรื่องของต้นทุนซึ่งส่งผลต่อราคาจำหน่ายระหว่างธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากงานวิจัยควรมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าถ้ามีราคาจำหน่ายเท่ากัน หรือควรต่ำกว่า จึงจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผลิตภัณฑ์ที่มาจากงานวิจัยมีประสิทธิภาพหรือคุณสมบัติดีกว่า แต่ต้นทุนหรือราคาจำหน่ายสูงกว่าเช่นกัน อาจไม่สามารถเป็นที่ยอมรับกับธุรกิจอื่น ๆ เนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิต หรือราคาสินค้าสำเร็จรูปที่จำหน่ายให้กับผู้บริโภค เว้นแต่สามารถชี้ให้เห็นได้ว่าประสิทธิภาพหรือคุณสมบัติดีกว่าของผลิตภัณฑ์ ช่วยให้ลูกค้าของผู้ประกอบการสามารถผลิต หรือสามารถขายสินค้าสำเร็จรูปได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงผลลัพธ์จริงในระยะสั้น เนื่องจากธุรกิจของลูกค้าอาจต้องมีการลงทุนเพิ่ม หรือมีความเสี่ยงในการเปลี่ยนวัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันกับผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย
ในด้านจุดแข็งที่เกิดจากงานวิจัย ถ้าเป็นกรณีของผลิตภัณฑ์ของธุรกิจ ทั้งที่เป็นแบบ B2B หรือเป็นแบบ B2C ส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกับจุดขาย แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเกิดประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการโดยตรงในกระบวนการผลิต หรือกระบวนการขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลลัพธ์ในรูปตัวเงิน หรือ “กำไร” อันมาจากประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ต้นทุน หรือระยะเวลา ที่เกิดจากเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ในกระบวนการวิจัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการในฝั่งผู้ผลิตสามารถได้ผลกำไรเพิ่มขึ้น เช่น การใช้วัตถุดิบที่ราคาถูกกว่า กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ผลผลิตหรือความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้น หรือ สามารถยืดระยะการเก็บรักษาได้นานขึ้น ซึ่งทำให้สามารถกระจายสินค้าไปยังผู้ผลิตได้ง่ายขึ้น หรือช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ ที่มีอยู่ ดังนั้น “จุดแข็ง” ของงานวิจัยสำหรับธุรกิจ B2B หรือ B2C จะเป็นเรื่องของการที่ผู้ประกอบการได้ “กำไร” มากขึ้น จากการนำผลลัพธ์จากงานวิจัยนั้นไปใช้อย่างไร
ดังนั้นการพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม นักวิจัยจึงควรสามารถชี้ให้เห็นว่างานวิจัยที่ได้ดำเนินการนั้น เป็นงานวิจัยที่ดีสามารถสร้างจุดขายหรือเสริมจุดแข็งสำหรับผู้ประกอบการอย่างไร หรืออย่างน้อยต้องสามารถชี้ให้เห็นความชัดเจนในประเด็นด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้าน “จุดขาย” หรือ “จุดแข็ง” อันจะทำให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากผลลัพธ์ของงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
5. Solution คือสิ่งที่ต้องการ
ในการพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม Solution หรือผลลัพธ์ของการแก้ปัญหา คือสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องการ ในด้านของนักวิจัย หรือฝ่าย “หิ้ง” สิ่งที่ต้องการก็คือ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากงานวิจัยพิสูจน์ได้ว่าเป็นไปได้จริงในด้านการใช้องค์ความรู้หรือเทคโนโลยี สำหรับการผลิตตามเป้าหมายของการวิจัย หรือรวมไปถึงการเกิดองค์ความรู้ใหม่ ผลงานวิจัยสามารถตีพิมพ์ในระดับนานาชาติได้ สามารถจดสิทธิบัตรหรืออย่างน้อยอนุสิทธิบัตรได้ ในขณะที่ฝ่ายผู้ประกอบการ หรือฝ่าย “เฮีย” นั้น สิ่งที่ต้องการก็คือ ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยสามารถนำออกสู่ตลาดและสร้างผลกำไรให้เกิดขึ้นได้ตามเป้าหมาย รวมถึงผลิตภัณฑ์หรือผลลัพธ์จากงานวิจัยเป็นไปตามที่ผู้ประกอบการคาดหวัง ให้ผู้บริโภคให้การยอมรับ หรือเกิดโอกาสใหม่ในการขยายไปสู่ตลาดใหม่ ในขณะที่ฝ่ายหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย สิ่งที่ต้องการก็คือ งานวิจัยแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามเป้าหมาย การดำเนินงานวิจัยเป็นไปตาม TOR หรือสัญญาขอรับทุนอย่างครบถ้วน หรืออาจรวมถึงการสร้างนักวิจัยใหม่ให้เกิดขึ้นในภาคอุดมศึกษา เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างนักวิจัยในมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม ผลงานวิจัยสามารถใช้เป็นผลงานต้นแบบหรือโชว์เคส สำหรับการแสดงนิทรรศการผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการนำองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ตามนโนยบายของรัฐ หรือเป็นไปตามพันธกิจที่มีอยู่ของหน่วยงานให้ทุน
ความคาดหวังถึง Solution หรือผลลัพธ์จากงานวิจัยเหล่านี้ คือสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในกระบวนการวิจัยคาดหวังและต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้นสำหรับฝั่งผู้ประกอบการอาจไม่ได้สนใจ หรือให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ กระบวนการผลิตแบบใหม่ที่นักวิจัยดำเนินการ ถ้าผลลัพธ์จากงานวิจัยไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย สามารถนำออกสู่ตลาดและสร้างผลกำไรให้เกิดขึ้นได้ตามเป้าหมายอย่างไร หรืออาจไม่สนใจด้วยว่าผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นนี้สามารถตีพิมพ์ในระดับนานาชาติได้ ถ้าผู้บริโภคอาจไม่ให้การยอมรับ เนื่องจากมีความใหม่เกินไป หรือแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่ตนเองคุ้นเคยอยู่ หรือไม่ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ในการขยายตลาด ซึ่งประเด็นเรื่องของ Solution ที่แตกต่างกันจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากผลลัพธ์งานวิจัย เป็นสิ่งที่นักวิจัยและผู้เกี่ยวข้องควรทำความเข้าใจ หรือตระหนักในเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ
ในตอนหน้าจะเป็นประเด็นที่ 6 ในเรื่องของการทดสอบการยอมรับของลูกค้า สำหรับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากงานวิจัย ซึ่งมักเป็นประเด็นที่ถูกละเลย หรือดำเนินการอย่างไม่เหมาะสม ทำให้ผลลัพธ์จากงานวิจัยขาดความน่าเชื่อถือ เกี่ยวกับโอกาสหรือศักยภาพเชิงพาณิชย์ถ้ามีการผลิตเชิงอุตสาหกรรม