10 ประเด็นการพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม (ตอนที่ 2) 1399 Views

รายละเอียด

บทความโดย : รัชกฤช คล่องพยาบาล


กรรมการชุดโครงการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (RCU) 


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

10 ประเด็นการพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ตอนที่ 2


จากตอนที่ผ่านมาได้กล่าวถึงการเข้าใจบทบาทของ “หิ้ง” เฮีย” และ “ห้าง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานวิจัยควรทำความเข้าใจเป็นลำดับแรก ว่าความต้องการ และความคาดหวังของแต่ละฝ่ายเป็นเช่นใด และประเด็นของการทำความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดที่จะบ่งบอกว่า งานวิจัยนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ในตอนนี้จะกล่าวถึงประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในลำดับต่อไป ซึ่งจะช่วยให้งานวิจัยที่มีการดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการ หรือภาคอุตสาหกรรม สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง และไม่เกิดปัญหาเมื่อจะมีการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
 

3. งานวิจัยเพื่อ B2B หรือ B2C

ถ้านักวิจัยและผู้ประกอบการมีการสื่อสารที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น นักวิจัยจะได้ข้อมูลอย่างชัดเจนว่าผู้ประกอบการหรือธุรกิจที่ร่วมทำงานวิจัยนี้ มีการดำเนินธุรกิจในลักษณะใด มีกลุ่มลูกค้าแบบใด ทั้งนี้การดำเนินธุรกิจโดยทั่วไป โดยเฉพาะภาคการผลิตจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ธุรกิจที่ผลิตหรือจำหน่ายสินค้าให้กับธุรกิจอื่น (business to business) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า B2B ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลลัพธ์จากงานวิจัยอาจเป็นวัตถุดิบ ส่วนผสม หรือเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับกระบวนการผลิตที่จำหน่ายให้ธุรกิจอื่นหรือภาคอุตสาหกรรม สำหรับผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป และลักษณะที่สอง คือธุรกิจที่ผลิตหรือจำหน่ายสินค้าให้กับผู้บริโภค (business to consumer) ที่ผลิตภัณฑ์หรือผลลัพธ์จากงานวิจัยจะถูกผลิตโดยผู้ประกอบการเอง หรือว่าจ้างการผลิตในลักษณะ OEM เป็นสินค้าสำเร็จรูป สำหรับจำหน่ายให้กับลูกค้าเป้าหมายหรือผู้บริโภคทั่วไป ทั้งที่เป็นตลาดในประเทศหรือตลาดต่างประเทศ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า B2C ซึ่งธุรกิจทั้ง 2 ประเภท หรือ 2 รูปแบบนี้ ส่งผลต่อการกำหนดระเบียบวิธีวิจัย (research methodology) หรือ สิ่งที่นักวิจัยจะต้องดำเนินการ เพื่อให้ผลลัพธ์จากงานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยไม่ประสบปัญหา เนื่องจากธุรกิจ B2B และธุรกิจ B2C มีเงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งนักวิจัยควรทำความเข้าใจให้ชัดเจน เนื่องจากผู้ประกอบการอาจไม่ได้แจ้งให้กับนักวิจัยทราบ หรือคิดว่า “นักวิจัยควรรู้เรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว”

กรณีงานวิจัยที่ดำเนินการกับธุรกิจแบบ B2B สิ่งที่นักวิจัยต้องทำความเข้าใจก่อนเป็นเบื้องต้น คือ ธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรม ทำการซื้อขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการวิจัยนี้ในลักษณะใด และมีเกณฑ์พิจารณาหรือข้อตกลงสำคัญอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการตกลงระหว่างธุรกิจนอกเหนือจาก ชนิดสินค้า ปริมาณ ระยะเวลาการส่งมอบ เงื่อนไขทางการค้า ปัจจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์จะเป็นสิ่งแรกที่ใช้ในการพิจารณา แต่รูปแบบการพิจารณาในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมจะใกล้เคียงกัน เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่ใช้ซื้อขายสินค้าระหว่างกัน โดยจะพิจารณาจากเอกสารแสดงคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ (specification sheet) หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า “สเปคชีท” ที่ระบุคุณสมบัติต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ที่ทำการซื้อขาย เช่น วัตถุดิบ ส่วนผสม ว่ามีคุณสมบัติอย่างไร ตัวอย่างเช่น ขนาด น้ำหนัก ความชื้น ขนาดอนุภาค ความบริสุทธ์ ความหนืด ความข้นเหลว ความถ่วงจำเพาะ ค่าความหวาน ปริมาณน้ำตาล ปริมาณโซเดียม ค่าความเป็นกรดด่าง (ph) มาตรฐานสอบเทียบ กระบวนการที่ใช้ในการทดสอบ เป็นต้น ซึ่งคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ อาจมีส่วนปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม หรือแตกต่างกันในแต่ละผลิตภัณฑ์  แต่ก็จะมีความคล้ายคลึงกันในส่วนใหญ่

นักวิจัยที่ดำเนินการวิจัยโดยไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะ หรือคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ตามสเปคชีทการซื้อขายในอุตสาหกรรมดังกล่าว เมื่อมีการกำหนดระเบียบวิธีวิจัย ที่อาจได้มาจากงานวิจัยในต่างประเทศ หรือการทบทวนวรรณกรรมจากวารสารวิชาการ หรือจากกระบวนการที่เคยทำมาก่อนในห้องปฏิบัติการ จะทำให้เมื่องานวิจัยแล้วเสร็จผู้ประกอบการไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากสิ่งที่นักวิจัยได้ดำเนินการไป ไม่มีผลลัพธ์เกี่ยวกับการวิจัยในคุณสมบัติบางอย่างตามสเปคชีทที่ซื้อขายกัน หรือกระบวนการที่ดำเนินการไม่สามารถใช้อ้างอิงได้ เนื่องจากไม่ตรงกับกระบวนการ หรือมาตรฐานสอบเทียบที่ระบุไว้ในสเปคชีททั่วไป ซึ่งอาจส่งผลให้งานวิจัยนี้สูญเปล่า เนื่องจากไม่สามารถนำไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ขายได้ หรือผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เพื่อทดสอบคุณสมบัติดังกล่าว ทั้งที่นักวิจัยสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในกระบวนการวิจัย 

กรณีงานวิจัยที่ดำเนินการกับธุรกิจแบบ B2C จะมีส่วนคล้ายคลึงกับประเด็นของ B2B แต่สิ่งที่นักวิจัยต้องทำความเข้าใจและให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ จะเป็นเรื่องของ ระเบียบ ข้อบังคับ กฏหมายที่เกี่ยวกับการขออนุญาตเพื่อการจำหน่ายสินค้า ตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม หน่วยงานสำคัญที่เป็นผู้อนุญาตในการผลิตและจำหน่ายสินค้า คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปในตัวย่อ “อย.” ซึ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานและความปลอดภัยในการผลิตสินค้า และความปลอดภัยของผู้บริโภค  ดังนั้นจึงมีระเบียบหรือขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อขออนุญาตมากมาย โดยเฉพาะการตรวจสอบความสะอาด ส่วนผสมต้องห้าม เชื้อจุลินทรีย์ หรือเชื้อโรคบางประเภทที่จะส่งผลต่อผู้บริโภค ที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของอาหาร ดังนั้นในกระบวนการวิจัยผู้วิจัยจึงควรมีกิจกรรมวิจัย หรือกระบวนการตรวจสอบส่วนผสม หรือเชื้อจุลินทรีย์ให้เป็นไปตามประกาศของ อย. หรือตามคูมือการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจทำการตรวจสอบตามมาตรฐานด้วยตนเอง ถ้าห้องปฏิบัติการของนักวิจัยมีความพร้อมเพียงพอ หรือใช้การตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการกลางซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากล ซึ่งผู้วิจัยสามารถเลือกใช้ในกระบวนการคู่ขนานกับกิจกรรมวิจัยอื่น ๆ ที่นักวิจัยดำเนินการด้วยตนเอง 

ในกรณีที่นักวิจัยไม่มีการตรวจสอบตามที่กล่าวมาในช่วงขั้นตอนการวิจัย เมื่อสิ้นสุดการวิจัยหรือปิดโครงการ ผู้วิจัยอาจต้องดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติมภายหลัง เพื่อให้สามารถปิดโครงการได้ หรือกรณีที่ผู้ประกอบการยอมเป็นผู้ตรวจสอบเอง ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในการนำผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบ ซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ และเสียเวลาที่จะนำสินค้าออกสู่ตลาด เพราะอาจต้องรอคิวและผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการกลาง ทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ ทั้งที่นักวิจัยสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบได้ในช่วงการวิจัย หรือก่อนปิดโครงการ และค่าใช้จ่ายการตรวจสอบดังกล่าว ผู้วิจัยสามารถกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณวิจัยตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาข้อเสนอโครงการ และการตรวจสอบที่ครบถ้วนตามมาตรฐาน จะช่วยยืนยันถึงผลลัพธ์จากงานวิจัยว่ามีความเป็นไปได้จริงในการผลิตเชิงพาณิชย์ และยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในตัวนักวิจัย ว่ามีความรู้ความเข้าใจต่อผลิตภัณฑ์หรือผลลัพธ์จากงานวิจัยที่จะถูกนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้นอกจากเรื่องของกระบวนการตรวจสอบตามมาตรฐานของภาครัฐ เช่น ตัวอย่างของ อย. ตามที่กล่าวมาสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มของธุรกิจ B2C สิ่งที่นักวิจัยควรพิจารณาประกอบอาจเป็น มาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง เช่นในกรณีผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจะเป็นมาตรฐาน FDA ของสหรัฐอเมริกา หรือ U.S. FDA ที่ใช้เป็นแนวทางมาตรฐานทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย เนื่องจากในกระบวนการวิจัยใช้เวลานาน ซึ่งโดยทั่วไปของงานวิจัยจะเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ดังนั้นภายในช่วงเวลาดังกล่าว อาจมีประกาศหรือระเบียบปฏิบัติที่ “อย.” กำหนดขึ้นใหม่ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน U.S. FDA ดังนั้นการกำหนดกระบวนการตรวจสอบ หรือระเบียบวิธีวิจัยที่นักวิจัยมีการเตรียมการไว้ก่อนล่วงหน้าอย่างเหมาะสม จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวนักวิจัยเองและสำหรับผู้ประกอบการ 

นอกจากเรื่องการตรวจสอบดังกล่าว ถ้านักวิจัยมีการติดต่อกับผู้ประกอบการที่ดีตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในกรณีที่ลูกค้าของผู้ประกอบการอาจไม่ใช่ผู้บริโภคในประเทศ แต่เป็นผู้บริโภคในต่างประเทศ หรือผู้ประกอบการจำหน่ายให้กับตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ เพื่อกระจายสินค้าหรือจำหน่ายสินค้าอีกทอดหนึ่ง นักวิจัยควรสอบถามผู้ประกอบการให้ชัดเจน ว่าประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นต้องการเงื่อนไขการตรวจสอบอะไรบ้าง หรือมีระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร ซึ่งจะทำให้นักวิจัยสามารถวางแผนการวิจัย หรือกำหนดระเบียบวิธีวิจัย รวมถึงตั้งงบประมาณการวิจัยให้เหมาะสม และครอบคลุมกับประเด็นหรือเรื่องต่าง ๆ ในการขออนุญาตเพื่อการผลิต หรือการจำหน่ายสินค้า อันจะเป็นการช่วยให้งานวิจัยดำเนินการได้อย่างราบรื่นตามแผนงาน และผลัพธ์จากงานวิจัยสามารถนำไปผลิตหรือจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

ในประเด็นงานวิจัยที่ดำเนินการกับธุรกิจแบบ B2C นี้ นอกจากเรื่องของกระบวนการตรวจสอบตามมาตรฐานที่ควรมีในกิจกรรมวิจัย นักวิจัยควรให้ความคำนึงถึงประเด็นเกี่ยวกับ “ลูกค้า” ของผู้ประกอบการ ว่าเป็นลูกค้าลักษณะใด มีปัจจัยใดที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการซื้อสินค้า เพื่อให้สามารถกำหนดวิธีการทดสอบการยอมรับผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสมกับพฤติกรรมการบริโภค ในขั้นตอนทดสอบการยอมรับเทคโนโลยี หรือการยอมรับผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงโดยละเอียดในประเด็นที่ 6 ในเรื่องของการยอมรับมาจาก “ลูกค้า” ซึ่งก็ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในการพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ที่นักวิจัยซึ่งไม่เข้าใจงานวิจัยแบบ B2C เลือกกลุ่มตัวอย่างในการทดสอบที่อาจไม่ใช่กลุ่มลูกค้าของผู้ประกอบการ หรือไม่ใช่ “ห้าง” ที่ “เฮีย” จะนำสินค้าหรือผลลัพธ์จากงานวิจัยไปขาย ทำให้ผลการทดสอบขาดความน่าเชื่อถือ

ในครั้งแรกผู้เขียนตั้งใจจะเขียนตอนนี้ใน 2 ประเด็น คือ งานวิจัยเพื่อ B2B หรือ B2C และเรื่องของการสร้างจุดขายหรือเสริมจุดแข็งของผลงานวิจัย แต่เนื่องจากรายละเอียดของประเด็นงานวิจัยเพื่อ B2B หรือ B2C มีค่อนข้างมาก และถ้าจะเขียนสรุปอาจเป็นการรวบรัดเกินไป อันจะทำให้ผู้อ่านไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร ดังนั้นขอยกเรื่องจุดขายหรือจุดแข็งไว้ในตอนถัดไป

Tech2biz
Admin Tech2biz