10 ประเด็นการพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม (ตอนที่ 1) 2093 Views

รายละเอียด

บทความโดย : รัชกฤช คล่องพยาบาล


กรรมการชุดโครงการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (RCU) 


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

10 ประเด็นการพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ตอนที่ 1


การพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นงานวิจัยที่พร้อมจะถ่ายทอดให้กับภาคอุตสาหกรรม เป็นนโยบายหลักของภาครัฐในการสนับสนุนการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์เป็นผลิตนวัตกรรม  โดยเฉพาะการที่มีผู้ประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรม เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา หรือการให้โจทย์แก่นักวิจัยในการพัฒนา อย่างไรก็ตามข้อควรคำนึงถึงถ้าต้องมีการดำเนินการดังกล่าวในทางปฏิบัติสำหรับการพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ควรจะทำอย่างไรมักไม่ค่อยมีการกล่าวถึง ดังนั้นเมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสพูดถึงเรื่องดังกล่าวในการบรรยายให้กับนักวิจัยและอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยด้านผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ในหัวข้อ Research utilization and innovation management ที่ชุดโครงการ Innovative House โดยสกว. และสวทช. จัดขึ้น เมื่อเดือนมกราคม 2561 จึงขอนำประสบการณ์จากการดำเนินการ ปัญหา หรืออุปสรรคที่พบ จากการเป็นผู้ประเมินโครงการตั้งแต่ข้อเสนอโครงการ รายงานความก้าวหน้า และการปิดโครงการ ในฐานะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย มาแบ่งปันสำหรับผู้สนใจ เพื่อให้ผลงานวิจัยในอนาคตสามารถนำออกสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจที่สนับสนุนโครงการ


1. หิ้ง + เฮีย + ห้าง

จุดเริ่มต้นของการเริ่มทำงานวิจัยที่นักวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมสำหรับการพัฒนาโครงการ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง ความเกี่ยวข้องในกระบวนการทำงาน โดยเฉพาะคำว่า “หิ้ง” เฮีย” และ “ห้าง” ซึ่งมาจากประโยคที่นักวิจัยมักคุ้นเคยกันคือ “จากหิ้งสู่ห้าง” หรือ การพัฒนาหรือการนำงานวิจัยจากภาคมหาวิทยาลัยออกสู่ตลาด ซึ่งคล้ายคลึงกับแนวคิดหรือทฤษฎี Triple Helix ของระบบนวัตกรรม ที่มีภาคส่วนสำคัญของการพัฒนารวม 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ (government) ภาคมหาวิทยาลัย (university) และภาคอุตสาหกรรม (industry) แต่ภายใต้กระบวนทัศน์หรือแนวคิด “จากหิ้งสู่ห้าง” ที่ผ่านมาในอดีต มักเป็นการมองตรงๆก็คือ จากหิ้งไปเข้าห้าง หรือจากงานวิจัยพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่นำออกสู่ตลาด ในขณะที่การพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเป็นการทำงานระหว่าง “หิ้ง” คือภาคมหาวิทยาลัย กับ “เฮีย” ซึ่งเป็นผู้ประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรม ที่จะเอางานวิจัยไปพัฒนาเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภค ซึ่งประเด็นความต้องการหรือ “ตัวเองได้อะไร” มีความแตกต่างกัน ในขณะที่ผู้บริโภคหรือลูกค้าหรือฝ่าย “ห้าง” ส่วนใหญ่มีความต้องการด้านประโยชน์ใช้สอย คุณสมบัติของสินค้า รูปลักษณ์สินค้า การออกแบบ ราคาที่เหมาะสม ความสะดวกในการซื้อ ภาพลักษณ์ของตนเองเมื่อใช้สินค้า เป็นต้น คือเป็นปัจจัยหรือคุณค่าที่ผสมผสานระหว่างด้าน function + emotion + phycology เข้าด้วยกัน 

ขณะที่ฝ่ายผู้ประกอบการหรือฝ่าย “เฮีย” อาจต้องการด้านการสร้างโอกาสทางธุรกิจ การพัฒนาหรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ การเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าเดิม การลดต้นทุนจากการใช้วัตถุดิบหรือกระบวนการใหม่ การลดเวลาในระบวนการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยหรือคุณค่าด้าน function + opportunity + cost เป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันก็ “เฮีย” เองก็มีหน้าที่ที่จะต้องคิดเรื่อง function + emotion + phycology ในฝั่ง “ห้าง” ด้วยระหว่างการนำงานวิจัยมาพัฒนาในช่วงกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งความแตกต่างบนความต้องการของฝั่ง “เฮีย” และฝั่ง “ห้าง” เป็นสิ่งที่ฝ่าย “หิ้ง” ต้องคิดตั้งแต่เริ่มต้นการวิจัยและพัฒนา หรือเริ่มกระบวนการผลักงานงานวิจัยออกไปสู่ภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการของ “หิ้ง” คือ การนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาใช้ในการพัฒนาวิจัยให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ตามเป้าหมาย หรือเป็นการคิดเรื่องของ science + technology เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายการวิจัย รวมถึงการได้รับทุนวิจัยเพื่อการพัฒนาผลงานวิชาการ หรือสนับสนุนทุนวิจัยให้กับนักศึกษาที่ดูแล โดยเฉพาะยิ่งเป็นองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ยิ่งดี เพราะจะทำให้สามารถตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ เป็นผลงานทางวิชาการได้  ดังนั้นการทำความเข้าใจในบทบาทของ หิ้ง + เฮีย + ห้าง จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ทั้งในด้านฝั่งนักวิจัยและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ


2. ทำความเข้าใจให้ตรงกัน

ถ้านักวิจัยและผู้ประกอบการเข้าใจบทบาทของตนเองของ “หิ้ง” เฮีย” และ “ห้าง” เป็นอย่างดีแล้วขั้นตอนถัดมาจะเป็นเรื่องของการสื่อสารและทำความเข้าใจให้ตรงกัน ระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ หรือ ระหว่างการดำเนินโครงการ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมากหรืออาจจะบอกได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดที่จะบ่งบอกว่า งานวิจัยนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะประโยคที่ว่า “นักวิจัยน่าจะรู้” กับ “ทำไมผู้ประกอบการไม่บอกตั้งแต่ต้น” เป็นประโยคที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะโครงการที่มีความล่าช้ากว่าแผนงาน หรือเกิดปัญหาในกระบวนการ หรือเมื่อจบงานวิจัย เนื่องจากนักวิจัยกับผู้ประกอบการอาจขาดการสื่อสารที่ดี เพื่อให้ต่างฝ่ายมีความเข้าใจถึงความต้องการ ความคาดหวัง บทบาท หน้าที่ ที่จะดำเนินการร่วมกัน ตลอดโครงการวิจัยคลาดเคลื่อน หรือแตกต่างกัน บ่อยครั้งที่พบว่ารายละเอียดในข้อเสนอโครงการมักขาดรายละเอียดที่จำเป็นเกี่ยวกับผลลัพธ์สุดท้ายหรือผลิตภัณฑ์ที่เฉพาะเจาะจงลงไป เนื่องจากในช่วงของการพัฒนาโครงการนักวิจัยอาจยังไม่สามารถตีโจทย์ของผู้ประกอบการให้แตก ว่าความต้องการของผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลลัพธ์จากงานวิจัย คืออะไรกันแน่ โดยเฉพาะถ้าเป็นนักวิจัยหรือผู้ประกอบการที่ไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน หรือทำงานวิจัยนี้เป็นงานแรก ต่างฝ่ายอาจไม่สามารถเข้าใจถึงความหมายหรือคำพูด เกี่ยวกับความต้องการในใจที่แท้จริง (insight) ของรายละเอียดที่ระบุเกี่ยวกับความต้องการของผลลัพธ์จากงานวิจัย หรืออาจกล่าวได้ว่า ยังไม่ “รู้มือ” หรือ “รู้ใจ” กันในการทำงาน 

เมื่อเกิดกรณีดังกล่าวทำให้การจัดทำข้อเสนอโครงการมักจะเป็นการเสนอแบบกว้างๆ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้รับโจทย์เป็นนักวิจัยใหม่ หรืออาจเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ที่เป็นผู้ดำเนินโครงการวิจัย ซึ่งได้รับมอบหมายจากอาจารย์หรือหัวหน้าโครงการ ให้ไปรับโจทย์หรือความต้องการของผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการ เนื่องจากอาจยังไม่ “เก๋า” พอที่จะแปลความหมายถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการบอก ว่านี่คือสิ่งที่ตนเองต้องการหรือเป็นเป้าหมายที่นักวิจัยควรดำเนินการ ซึ่งการตีโจทย์ไม่แตกจากการขาดการสื่อสารที่ดีนี้ มักจะกลายเป็นผลเสียในภายหลัง เนื่องจากหากข้อเสนอโครงการได้รับการอนุมัติ รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับ output outcome ในข้อเสนอโครงการ จะถูกจัดทำเป็น TOR สำหรับการทำสัญญา ซึ่งการประเมินเพื่อปิดโครงการจะถูกพิจารณาสิ่งต่างๆที่ระบุไว้ตาม TOR หรือสัญญา 

ดังนั้นกรณีที่เมื่อเริ่มดำเนินการวิจัยไปแล้ว นักวิจัยกับผู้ประกอบการได้พูดคุยหรือสื่อสารกันมากขึ้น หรือเริ่มมีความคุ้นเคยกันมากขึ้น อาจพบว่าผลลัพธ์จากงานวิจัยที่ผู้ประกอบการต้องการอาจแตกต่างจาก TOR หรือสัญญา ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถปิดงานวิจัยได้ เนื่องจากนักวิจัยได้ดำเนินการไปแล้ว หรือกำหนดระเบียบวิธีวิจัยไปแล้ว ซึ่งอาจส่งผลให้นักวิจัยต้องทำงานวิจัยเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น รวมถึงผลลัพธ์จากงานวิจัยอาจไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์จากผู้ประกอบการ เนื่องจากไม่ใช่สิ่งที่ตนเองต้องการ หรือไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากขาดสิ่งที่จำเป็นบางอย่าง ที่ผู้ประกอบการอาจไม่ได้บอกกับนักวิจัยในช่วงแรก หรือนักวิจัยตีความหมายผิดเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ

ในการสื่อสารระหว่างกันระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการนั้น การดำเนินการติดต่อทั่วไปอาจใช้วิธีการโทรศัพท์ติดต่อ อีเมล์ หรือในปัจจุบันเป็นการใช้ Line ในการติดต่อระหว่างกัน อย่างไรก็ตามในความเห็นของผู้เขียนนอกเหนือจากวิธีการดังกล่าวข้างต้น นักวิจัยควรเดินทางไปพบกับผู้ประกอบการโดยตรง เนื่องจากการสื่อสารด้วยโทรศัพท์ อีเมล์ Line ที่เป็นเฉพาะเสียงหรือข้อความ จะไม่เห็นถึงลักษณะสีหน้า ท่าทาง ที่จะช่วยบอกว่าข้อมูลหรือสิ่งที่สื่อสารออกไปนั้น ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันอย่างถูกต้องหรือไม่ และมักมีข้อจำกัดด้านระยะเวลา และเป็นการสื่อสารทางข้อความ ที่อาจไม่สามารถขยายรายละเอียดถึงสิ่งที่ระบุได้ เนื่องจากคำว่า “เข้าใจแล้วครับ” “ตกลงครับ” “ดำเนินการได้เลยครับ” อาจไม่ได้เป็นอย่างที่บอกไว้ในอีเมล์ Line เนื่องจากผู้ตอบอาจไม่เข้าใจสิ่งที่ระบุมาทางข้อความ หรือไม่รู้ว่ามันคืออะไร และก็ไม่รู้ว่าจะตั้งคำถามสำหรับคำอธิบายให้เข้าใจอย่างไร โดยเฉพาะฝั่งผู้ประกอบการที่มักเกรงใจฝั่งนักวิจัย เนื่องจากคิดว่าเป็นผู้มีความรู้มากกว่า หรือการใช้ศัพท์ทางวิชาการบางอย่างจากนักวิจัย ที่ผู้ประกอบการอาจไม่มีความรู้เลยว่ามันหมายถึงอะไร การเดินทางไปพบกับผู้ประกอบการโดยตรงนอกจากจะเป็นการสร้างความคุ้นเคยระหว่างกันแล้ว นักวิจัยกับผู้ประกอบการจะมีโอกาสในการพูดคุยหรือให้รายละเอียดต่างๆ หรือตอบข้อซักถาม จะทำให้งานวิจัยดำเนินการได้อย่างราบรื่น และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆในกิจกรรมวิจัยที่จะดำเนินการได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ภายหลังการพูดคุยนักวิจัยควรมีการบันทึก หรือส่งเอกสารยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้งให้กับผู้ประกอบการถึงสิ่งที่ได้พูดคุยกัน แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนที่อาจยุ่งยากหรือกินเวลา แต่เอกสารยืนยันเหล่านี้จะเป็นประโยชน์มาก ในกรณีที่เกิดปัญหาในผลลัพธ์การวิจัยช่วงปิดโครงการ ที่ผู้ประกอบการอาจบอกว่าไม่ได้บอกหรือไม่เคยบอกให้นักวิจัยทำอย่างนี้ ในขณะที่นักวิจัยยืนยันว่าสิ่งที่ตนเองดำเนินการนั้น ทำตามผู้ประกอบการบอกไว้ ซึ่งอาจเป็นที่ผู้ประกอบการบอกนักวิจัยจริง แต่ลืมสิ่งที่บอกไปเนื่องจากแต่ละโครงการวิจัยมักใช้ระยะเวลายาวนาน หรืออย่างน้อยประมาณ 1 ปี ทำให้หลงลืมสิ่งที่เคยบอกไป หรือผู้ประกอบการอาจบอกนักวิจัยจริง แต่ความหมายในสิ่งที่บอกไม่ตรงกับที่นักวิจัยเข้าใจและไปดำเนินการ ซึ่งในท้ายที่สุดนักวิจัยอาจมีภาระงานเพิ่ม เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ยอมรับการปิดโครงการ หรือผลประเมินงานวิจัยไม่อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งกลายเป็นประวัติที่ไม่ดีในการขอรับทุนวิจัยโครงการอื่นในอนาคต การมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารสิ่งที่ยืนยันข้อตกลงระหว่างกันจะช่วยให้ขจัดปัญหาและข้อโต้แย้งระหว่างกันเหล่านี้ และสามารถปิดโครงการได้อย่างราบรื่น


จาก 2 ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับจุดเริ่มของการพัฒนางานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ในตอนหน้าจะเป็นการกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ เช่น งานวิจัยเพื่อ B2B หรือ B2C ที่นักวิจัยควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องถ้าต้องการให้ผลงานวิจัยสามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ หรือเรื่องของการสร้างจุดขายหรือเสริมจุดแข็งของผลงานวิจัย ที่บ่งบอกถึงประสิทธิผลที่ต้องการ หรือ outcome ที่มาจากงานวิจัย

Tech2biz
Admin Tech2biz