บทความโดย : พญ.นภวรรณ ถาวรานันต์
ตัวแทนสิทธิบัตรไทย
สิทธิบัตร คือเอกสารที่ออกให้โดยรัฐ โดยรัฐให้สิทธิแก่เจ้าของสิทธิบัตรที่จะห้ามผู้อื่นขาย ผลิต ใช้ และนำเข้า งานที่ระบุไว้ในสิทธิบัตรโดยไม่ได้รับอนุญาต หมายความว่า หากสินค้าของท่าน (เช่นสูตรยาเร่งการเติบโตของราก) ได้รับการจดสิทธิบัตรในประเทศไทย สินค้าดังกล่าว (หากไม่มีงานของผู้อื่นมาเกี่ยวข้อง) จะสามารถถูกขาย ผลิต ใช้ และนำเข้าโดยเจ้าของสิทธิบัตรแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ดังนั้นหากสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาด การที่สินค้าเรามีสิทธิบัตรคุ้มครองจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจของเราเป็นอย่างมาก เพราะเราจะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการขาย ผลิต ใช้ และนำเข้างานที่ระบุไว้ในสิทธิบัตรดังกล่าว ซึ่งหากผู้อื่นมาขาย ผลิต ใช้ และนำเข้างานดังกล่าวก็จะเป็นการละเมิดสิทธิบัตร ซึ่งจะมีทั้งโทษปรับและจำคุก แต่สิทธิผูกขาดดังกล่าวก็มีข้อจำกัดสำคัญที่ควรทราบ นั่นคือ สิทธิดังกล่าวมีระยะเวลาจำกัดที่ 20 ปี (หากเป็นอนุสิทธิบัตรหรือสิทธิบัตรออกแบบ ระยะเวลาคุ้มครองจะน้อยกว่านั้น โดยส่วนใหญ่คุ้มครองประมาณ 7-10 ปี ขึ้นกับว่าขอรับความคุ้มครองในประเทศใด) และสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่เกิดจากการเป็นเจ้าของสิทธิบัติเป็นสิทธิอยู่ภายใต้หลักดินแดน นั่นคือจดสิทธิบัตรที่ไหน ได้รับความคุ้มครองที่นั่น เช่นจดสิทธิบัตรในประเทศไทย ก็จะมีสิทธิดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย หรือจดที่ประเทศจีนก็รับความคุ้มครองในประเทศจีน เป็นต้น
กรณีต้องการจดสิทธิบัตร ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าความคุ้มครองด้านสิทธิบัตรอยู่ภายใต้หลักดินแดน การขอรับความคุ้มครองในทุกประเทศจะเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ดังนั้นผู้ประดิษฐ์จำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ตลาดเป้าหมาย เพื่อพิจารณาขอรับความคุ้มครองในประเทศหลัก ๆ ที่เป็นเป้าหมายหรือตลาดของสินค้า และเนื่องจากสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่ได้ (exclusive right) นั้นเกี่ยวข้องกับการขาย การผลิต การใช้ และการนำเข้า จึงต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวจากการรับจดทะเบียนสิทธิบัตร ยกตัวอย่างเช่น ประเทศที่เราจะใช้เป็นฐานการผลิตคือที่ใด ฐานลูกค้าหลักของเราอยู่ที่ใดบ้าง หรือแม้แต่ในบางครั้งเราอาจต้องพิจารณาขอรับความคุ้มครองในตลาดของคู่แข่งเพื่อที่จะทำให้ลูกค้ามีโอกาสเลือกสินค้าของเรา เป็นการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) เช่นกัน การจดสิทธิบัตรแต่ละประเทศนั้น จะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการจดสิทธิบัตร กฎหมายภายใน และการบังคับใช้กฎหมาย ของประเทศนั้น เป็นต้น
กรณีที่ไม่ต้องการจดสิทธิบัตร (ขอยกตัวอย่างให้สินค้าเป็นชุดเซนเซอร์ตรวจสอบธาตุอาหารในดิน ที่มีตลาดเป้าหมายในประเทศเวียดนาม) เราจะต้องทำการตรวจสอบจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรเสียก่อนว่ามีการจดสิทธิบัตรชุดเซนเซอร์ดังกล่าวหรืองานประเภทใกล้เคียงกันในประเทศเวียดนามหรือไม่ เนื่องจากเราจะต้องตรวจสอบว่า สินค้าของเรามีโอกาสที่จะไปละเมิดสิทธิบัตรของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนในประเทศเวียดนามหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีการจดสิทธิบัตรชุดเซนเซอร์ดังกล่าวในประเทศเวียดนาม เราก็สามารถนำสินค้าชุดเซนเซอร์ของเราเข้าไปขายในเวียดนามได้ แต่เนื่องจากเราเองไม่ได้จดสิทธิบัตรในเวียดนาม เราจึงไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว หากมีคนอื่นมาผลิตขายแข่งกับเรา คู่แข่งก็สามารถผลิตได้โดยไม่ผิดกฎหมายเช่นกัน โดยสรุปคือ หากเราไม่จดสิทธิบัตรในประเทศที่เราจะนำของไปขาย เราจำเป็นต้องตรวจสอบก่อนว่าเราไม่ได้ละเมิดสิทธิบัตรของผู้อื่น ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวจะอาศัยการตรวจสอบจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรในประเทศนั้นๆ กรณีประเทศใหญ่ๆเช่น อเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น เราสามารถสืบค้นจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรประเทศนั้นๆได้เองในเบื้องต้น
ดังนั้นในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการหรือเจ้าของสิทธิบัตรจะต้องพิจารณาว่าตลาดหลักที่เราต้องการนำสินค้าของเราเข้าไปขายนั้น มีประเทศใดบ้าง ความคุ้มค่าของการขอรับความคุ้มครองเทียบกับค่าใช้จ่ายเป็นอย่าไร และเรามีโอกาสที่จะละเมิดงานที่ได้ขอรับความคุ้มครองแล้วในประเทศดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากถ้าเราไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ธุรกิจของเราอาจถูกฟ้องร้องเสียหายได้
การขอรับความคุ้มครองด้านสิทธิบัตรจะสามารถทำได้ ก็ต่อเมื่อสินค้าหรืองานประดิษฐ์นั้นเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายสิทธิบัตรกำหนดไว้ นั่นคือ ความใหม่ ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และการประยุกต์ได้ทางอุตสาหกรรม
ความใหม่ เป็นเงื่อนไขแรกที่ต้องพิจารณา โดยผู้ประกอบการหรือเจ้าของงานประดิษฐ์จะต้องหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่อาจมีผลในการทำลายความใหม่ เช่น การนำสินค้าออกแสดง การขายสินค้า การตีพิมพ์รายละเอียดงานที่ต้องการขอรับความคุ้มครอง เป็นต้น โดยอาจมีรายละเอียดและข้อยกเว้นที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ
การสืบค้นข้อมูลด้านสิทธิบัตรจากฐานข้อมูลต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาถึงความป็นไปได้ในการจดสิทธิบัตรสำหรับสินค้าหรืองานประดิษฐ์ของเรา โดยเราจะนำข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นมาพิจารณาว่างานประดิษฐ์ของเรา มีความใหม่หรือไม่ มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจต้องอาศัยความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตรในการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว
สิทธิบัตรเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการของไทย มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก อีกทั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ผู้เกี่ยวข้องจะสามารถดึงนำมาใช้ได้ในหลายด้าน ดังนั้นเราควรจะต้องเปิดใจที่จะเรียนรู้แง่มุมต่างๆ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลสิทธิบัตร เพื่อพัฒนาองค์กร และประเทศของเราต่อไป