การประเมินมูลค่าเทคโนโลยี (ตอนที่ 2) 1112 Views

รายละเอียด

บทความโดย : รัชกฤช คล่องพยาบาล


กรรมการชุดโครงการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (RCU) 


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ปัจจัย 5W2H ในการประเมินมูลค่าเทคโนโลยี - Why 

 


ก่อนที่จะกล่าวถึงรายละเอียดต่างๆ ของการวิธีการต่างๆในการประเมินมูลค่าเทคโนโลยี คงต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการประเมินกันก่อนเป็นเบื้องต้น เนื่องจากปัจจัยต่างๆที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะส่งผลต่อผู้ประเมินสำหรับการเลือกหรือการกำหนดวิธีการที่เหมาะสม โดยในกรณีที่ผู้ประเมินละเลยหรือไม่ตระหนักถึงปัจจัยเหล่านี้ ก็มักจะส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการประเมิน หรือเกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวมูลค่าภายหลังจากการประเมินระหว่างผู้เกี่ยวข้องอยู่เสมอ ซึ่งก็คือปัจจัยของ 5W2H หรือ Why What Who When Where How How much ที่ผู้ประเมินจะต้องพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยต่างๆ ของ 5W2H นี้ ว่ามีความสัมพันธ์หรือส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างไร เพื่อให้สามารถกำหนดสมมติฐานและวิธีการวิเคราะห์มูลค่าเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงช่วยให้สามารถอธิบายหรือชี้แจงมูลค่าที่ได้จากการประเมินอย่างมีเหตุมีผลแก่ผู้เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้แต่ละปัจจัยของ 5W2H ดังกล่าวต่างล้วนแล้วแต่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และต่างก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในภาพรวมของการใช้ประโยชน์หรือการประเมินมูลค่า โดยมูลค่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงหรือแปรผันไปตามปัจจัยข้างต้น ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงประเด็นต่างๆ ของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัย 5W2H จากประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่อยู่ในกระบวนการถ่ายทอด หรือการอนุญาตใช้สิทธิที่เกิดขึ้นในบริบทของประเทศไทยเป็นสำคัญ เพื่อให้เห็นภาพเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในแง่มุมต่างๆ และสามารถเข้าใจถึงวิธีการประเมินแบบต่างๆที่เหมาะสมในลำดับต่อไป หรือแม้จะเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจากหน่วยงานวิจัยภายในองค์กร ก็สามารถประยุกต์ปัจจัยเหล่านี้สำหรับการประเมินมูลค่าได้ด้วยเช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

Why

ปัจจัย “Why” หรือ “ทำไม” จะเป็นเรื่องของวัตถุประสงค์หรือเหตุผลของการเลือกที่จะใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนี้จากผู้ต้องการใช้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่น เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจ หรือเพื่อใช้แข่งขันกับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าอื่นๆในตลาด หรือเพื่อใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือทำให้กระบวนการผลิตเดิมมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เป็นประเด็นที่ต้องกำหนดไว้สำหรับการประเมินมูลค่าโดยตรง แต่ทว่าเรื่องของ Why อาจถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้ประเมินต้องเริ่มพิจารณาก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากจะนำไปสู่เงื่อนไขหรือข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา คือ เจ้าของเทคโนโลยี (Technology owner) กับผู้ใช้ประโยชน์เทคโนโลยี (Technology exploiter)  หรือระหว่างผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี (Technology licensor) กับผู้รับอนุญาตใช้สิทธิเทคโนโลยี (Technology licensee) หรือระหว่างผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transferrer) กับผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transferee) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเทคโนโลยีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้เกิดการถ่ายทอดสู่ภาคธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรม เช่น เป็นเทคโนโลยีที่มาจากมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นการวิจัยโดยทุนของหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยต่างๆ หรือเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจากหน่วยงานวิจัยของรัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินก็ตาม โดยขอบเขตการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีที่มาจาก Why นี้ มักกล่าวถึงเรื่องของ 4W2H ที่เหลือคือ What Who When Where How How much คือ เทคโนโลยีที่ถ่ายทอดหรืออนุญาตให้ใช้สิทธิคืออะไร (What) ผู้ถ่ายทอดหรือเจ้าของเทคโนโลยีกับผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือผู้รับสิทธิเทคโนโลยีคือใคร (Who) ระยะเวลาที่อนุญาตให้ใช้สิทธิจะเริ่มต้นและสิ้นสุดเมื่อไหร่ (When) สิทธิการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีครอบคลุมพื้นที่ในระดับใด (Where) หน้าที่ปฏิบัติระหว่างผู้เกี่ยวข้องหรือคู่สัญญา เช่น กระบวนการการถ่ายทอด การดำเนินการของธุรกิจภายหลังการถ่ายทอด หรือการจ่ายค่าใช้สิทธิเทคโนโลยีจะดำเนินการอย่างไร หรือมีเงื่อนไขระหว่างคู่สัญญาอย่างไร (How) และค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิเทคโนโลยี (Royalty fee) มีการกำหนดหรือคิดมูลค่าค่ากันในจำนวนเท่าใด (How much) ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจัย Why จะเป็นตัวบ่งบอกแนวคิดของปัจจัยอื่นๆที่เหลือ ที่จะเป็นสมมติฐานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมูลค่าเทคโนโลยีในลำดับต่อไป

อย่างไรก็ตามบ่อยครั้งที่พบว่าผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝั่งของเจ้าของเทคโนโลยี หรือหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา มักละเลยประเด็นเรื่องของ Why ที่นำไปสู่ปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมักมี “ข้อตกลงมาตรฐาน” หรือ “สัญญามาตรฐาน” ที่ไม่ว่าผู้ต้องการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีจะมีเหตุผล หรือวัตถุประสงค์การใช้เทคโนโลยีอย่างไร ก็มักมีรูปแบบมาตรฐานที่ใช้ตกลงกันระหว่างคู่สัญญา ซึ่งก็ถือเป็นความสะดวกประการหนึ่งในขั้นตอนต่อไปในการเจรจา แต่ทั้งนี้ขึ้นกับว่าจะได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของการใช้ประโยชน์ หรือสามารถจำแนกและวิเคราะห์เหตุผลและความต้องการอย่างถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ สำหรับการกำหนดเงื่อนไขและขอบเขตการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือเป็นเงื่อนไขที่ผู้ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่เจ้าของเทคโนโลยีหรือผู้อนุญาตใช้สิทธิเทคโนโลยีก็จะได้ผลประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี หรือมีประสิทธิภาพในการดำเนินการระหว่างกันด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ต้องการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีต้องการเทคโนโลยีที่ช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถขนส่งไปตลาดต่างประเทศ หรือมีอายุสินค้านานขึ้นสำหรับการจำหน่ายในช่องทางตลาดต่างประเทศ โดยเทคโนโลยีที่ใช้อาจเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีความซับซ้อน เป็นเพียงการนำความรู้จากงานวิจัยเดิมที่มีอยู่มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตของธุรกิจ เงื่อนไขสัญญาที่เหมาะสมอาจเป็นเพียงการถ่ายทอดกระบวนการผลิตจากงานวิจัยเดิมให้กับธุรกิจ โดยครอบคลุมการใช้ประโยชน์ทั้งตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระยะเวลาการให้ใช้สิทธิระยะปานกลางประมาณ 3 ปี เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีความซับซ้อน และธุรกิจสามารถรับเทคโนโลยีไปปรับปรุงกระบนการผลิตได้ในทันที โดยมีเงื่อนไขที่ผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนำเทคโนโลยีจากงานวิจัยไปปรับปรุงกระบวนการผลิตของสินค้าของธุรกิจ ที่จำเป็นต้องส่งไปทางเรือบรรทุกสินค้าสู่ต่างประเทศ โดยคิดค่าอนุญาตใช้สิทธิที่ 0.5% เนื่องจากเป็นการอนุญาตใช้สิทธิแบบไม่จำกัดแต่เพียงผู้เดียว (Non-exclusive rights) โดยราคาที่ใช้ในการคำนวณค่าธรรมเนียมคิดจากราคาสินค้าตามราคา FOB เป็นต้น 

จากเงื่อนไขข้างต้นในกรณีที่เป็นสัญญามาตรฐานทั่วไปจากหน่วยงานวิจัย มักอยู่ในรูปแบบที่การกำหนดให้เป็นการถ่ายทอดกระบวนการผลิตจากงานวิจัยเดิมให้กับธุรกิจ เพื่อให้ครอบคลุมตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระยะเวลาการให้ใช้สิทธิจะเป็นเวลาระยะยาวประมาณ 5-7 ปี โดยถือว่าผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสามารถนำเทคโนโลยีจากงานวิจัย ไปปรับปรุงกระบวนการผลิตของสินค้าทั้งหมด โดยคิดค่าอนุญาตใช้สิทธิที่ 3% ของราคาสินค้า เป็นต้น เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วเงื่อนไขการให้ใช้สิทธิจากหน่วยงานวิจัยมักครอบคลุมเปิดกว้างในลักษณะการใช้สิทธิ และมักไม่กำหนดพื้นที่การใช้ประโชน์หรือครอบคลุมทุกตลาด โดยระยะเวลาการให้ใช้สิทธิมักเป็น 5-7 ปี อัตราค่าธรรมเนียมอนุญาตใช้สิทธิก็มักเป็นอัตราคงที่คือประมาณ 3% ของราคาขายผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามเงื่อนไขดังกล่าวอาจมีการปรับแก้ในช่วงระยะเวลาการต่อรอง แต่ในข้อเท็จจริงก็มักจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก โดยส่วนที่มักมีการปรับแก้หรือการเปลี่ยนแปลง คือเรื่องของอัตราค่าธรรมเนียมการอนุญาตใช้สิทธิ แต่ในส่วนของขอบเขตและระยะเวลาไม่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนัก

จากเงื่อนไขต่างๆที่กล่าวมาเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลที่นำไปสู่การกำหนดสมมตฺฐานหรือตัวแปรต่างๆในการประเมินมูลค่าเทคโนโลยีแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะกับวิธีรายได้ (Income approach) หรือวิธีคิดลดกระแสเงินสด (Discount cash flow method – DCF) ที่เป็นวิธีที่นิยมปฏิบัติในการประเมินมูลค่าเทคโนโบยีโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประมาณการรายได้ ซึ่งมาจากการครอบคลุมตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระยะเวลาการสร้างรายได้อันมาจากระยะเวลาการให้ใช้สิทธิการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี หรือรายได้จากหน่วยขายสินค้าจากการกำหนดราคาค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิเทคโนโลยี เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าการละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญในปัจจัยของ Why ในข้อเท็จจริงของการใช้ประโยชน์ กับเงื่อนไขมาตรฐานทั่วไปอาจส่งผลให้ราคาประเมินเทคโนโลยีอาจมีความแตกต่างกัน อันเนื่องจากที่มาของสมมติฐานหรือตัวแปรในการประเมินที่แตกต่างกันนั่นเอง 

ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มประเมินมูลค่า ผู้ประเมินควรให้ความสำคัญกับเรื่องของ Why ว่าควรจะกำหนดในรูปแบบใด จะเป็นในลักษณะข้อเท็จจริงหรือตามมาตรฐานเงื่อนไขทั่วไป เพื่อให้สามารถกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขการประเมินได้อย่างถูกต้องสำหรับการประเมินมูลค่าเทคโนโลยี  ซึ่งในตอนหน้าจะเป็นการกล่าวถึงปัจจัย What คือการพิจารณาถึงตัวเทคโนโลยี เนื่องจากลักษณะและคุณสมบัติของเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อมูลค่าโดยตรง ทั้งในเชิงความสามารถในการใช้ประโยชน์ ระยะเวลาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ หรือความล้าสมัยในตัวเทคโนโลยี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับอายุความคุ้มครอง หรือเงินทุนที่ใช้ไปสำหรับการวิจัยแต่อย่างใด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนที่ไม่ชัดแจ้ง (Implicit cost) ที่จะเกิดขึ้นถ้ามีการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนี้ และมักถูกมองข้ามที่จะกำหนดไว้ในการประเมินมูลค่าเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลให้มูลค่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

Tech2biz
Admin Tech2biz