บทความโดย : รัชกฤช คล่องพยาบาล
กรรมการชุดโครงการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (RCU)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
การประเมินมูลค่าเทคโนโลยี (Technology valuation) เป็นขั้นตอนหรือกระบวนการสำคัญประการหนึ่งสำหรับการนำเทคโนโลยีใช้ประโยชน์ (Technology exploitation) เพื่อให้ทราบว่าเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งมีมูลค่าเท่าใด โดยเฉพาะการทราบถึงมูลค่าสำหรับใช้คำนวณในกระบวนการขออนุญาตใช้สิทธิเทคโนโลยี (Technology licensing) หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับเจ้าของเทคโนโลยี ซึ่งในประเทศไทยจะเป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากงานวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยงานวิจัยต่างๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) หรือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นต้น หรือเป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย ที่ดำเนินการประเมินมูลค่าผ่านหน่วยงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่จัดตั้งขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นภายในองค์กรสำหรับกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรหรืออุปกรณ์การผลิตสำหรับอุตสาหกรรม ที่เทคโนโลยีที่วิจัยหรือพัฒนาจะถูกนำมาฝัง (Embedded) หรือผนวกเข้า ไว้ในเครื่องจักรหรืออุปกรณ์การผลิตที่พัฒนาหรือสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการกำหนดมูลค่าราคาจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมต่อไป
นิยามหรือคำจำกัดความเกี่ยวกับเทคโนโลยีมีอยู่มากมาย และเรามักกล่าวถึงคำว่า “เทคโนโลยี” ควบคู่ไปกับคำว่า “วิทยาศาสตร์” หรือกล่าวรวมเป็นคำว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ซึ่งแนวคิดในการอธิบายดังกล่าว ดร.เสริมพล รัตสุข ได้เคยกล่าวถึงไว้ในหนังสือ แนวทางการวางแผนและการจัดการโครงการวิจัย ซึ่งจัดพิมพ์โดย วว. ในปี 2553 ซึ่งให้ความหมายว่า วิทยาศาสตร์หมายถึง องค์ความรู้ที่เป็นระบบซึ่งเกิดขึ้นจากการเฝ้าสังเกตุหรือการทดสอบ เพื่อใช้อธิบายสิ่งต่างๆ หรือเรื่องที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ หรือเป็นองค์ความรู้ที่ใช้อธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น (Know why) ในขณะที่เทคโนโลยีหมายถึง องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม และการใช้วิธีการเหล่านั้นในอุตสาหกรรม หรืออาจเป็นเครื่องจักรอุปกรณ์และวิธีการต่างๆ ที่ตั้งบนพื้นฐานขององค์ความรู้นั้น หรืออาจกล่าวในอีกนัยหนึ่งเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจคือ เทคโนโลยีหมายถึง องค์ความรู้ในเรื่องของวิธีการที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดสิ่งที่มองเห็นได้ วัดได้ จับต้องได้ หรือเทคโนโลยีหมายถึงรู้ว่าจะทำอย่างไร (Know how) ซึ่งในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องมีกระบวนการนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมหลายสาขามารองรับเทคโนโลยีนั้น ซึ่งอยู่ในรูปของเครื่องมือ เครื่องจักร และกระบวนการผลิต หรือกล่าวได้ว่าวิศวกรรมหมายถึง กระบวนการทำให้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกิดผลในทางปฏิบัติ (Do how) ซึ่งทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม มีความเกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่น โดยเฉพาะบ่อยครั้งที่คำว่าเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในความหมายของวิศวกรรม
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคำว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม มีความสัมพันธ์กับการประเมินหรือการระบุถึงมูลค่าของเทคโนโลยี เนื่องจากผลลัพธ์ของเทคโนโลยีที่ผ่านกระบวนการทางวิศวกรรม จนเกิดประโยชน์ในเชิงปฏิบัติตามที่กล่าวมาข้างต้น อาจอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ บริการ ที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น คุณสมบัติที่ดีขึ้น อันเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะได้รับการใช้เทคโนโลยี สำหรับการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน กับผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่นๆ ในตลาด หรือสามารถสร้างความต้องการให้กับผู้บริโภค ที่ยินดีจ่ายเงินเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์หรือบริการจากการใช้เทคโนโลยีนั่น หรืออาจเป็นเรื่องของ ต้นทุนที่ลดลงในกระบวนการผลิต เนื่องจากเทคโนโลยีช่วยให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการใช้วัตถุดิบในการผลิตในจำนวนน้อยลง หรือระยะเวลาในการผลิตที่ลดลง เป็นต้น คือ ธุรกิจสามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิตลง ซึ่งก็จะส่งผลให้ธุรกิจสามารถได้รับผลกำไรที่เพิ่มขึ้น หรือสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจในการแข่งขันในอนาคต ซึ่งก็จะทำให้ธุรกิจสามารถสร้างการเติบโตด้านยอดขายสินค้าและธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ทำให้ในพื้นฐานของการกำหนดหรือประเมินมูลค่าเทคโนโลยี จะมาจากประโยชน์ที่ธุรกิจได้รับจากการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดสิ่งที่มองเห็นได้ วัดได้ จับต้องได้ ซึ่งมักอยู่ในรูปของตัวเงินถ้าสามารถวัดได้โดยตรง เช่น กำไรที่เพิ่มขึ้น ยอดขายที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนที่ลดลง หรือถ้าไม่สามารถวัดเป็นตัวเงินได้โดยตรง ก็จะถูกแปลงค่าให้อยู่ในรูปของตัวเงิน เช่น โอกาสทางธุรกิจในอนาคตจากประสิทธิภาพหรือคุณสมบัติสินค้าที่ดีขึ้นซึ่งจะทำให้เป็นที่ต้องการของลูกค้ามากขึ้น โอกาสทางการแข่งขันจากระยะเวลาที่เร็วขึ้นสำหรับการนำผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ออกสู่ตลาด เป็นต้น สำหรับนำมาใช้ในการประเมินมูลค่านั่นเอง
ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ที่ธุรกิจได้รับจากการนำเทคโนโลยีไปใช้ดังกล่าวนี้ เป็นส่วนสำคัญสำหรับการเลือกวิธีการประเมินมูลค่า หรือการตั้งสมมติฐานต่างๆที่ใช้ในการคำนวณหรือประเมินมูลค่า สำหรับสร้างความเข้าใจหรือการกำหนดเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ทำการประเมิน ซึ่งพบว่าบ่อยครั้งที่เจ้าขององค์ความรู้หรือผู้พัฒนาเทคโนโลยี กับผู้ที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ ต่างกำหนดราคาประเมินมูลค่าเทคโนโลยีที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก จนทำให้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างกันได้ หรือมูลค่าของเทคโนโลยีที่ประเมินได้นั้นมีมูลค่าต่ำหรือสูงกว่าความเป็นจริง สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ ทำให้แม้ว่าจะมีการประเมินราคามูลค่าเทคโนโลยีไว้ก่อนล่วงหน้า ไม่ว่าจะด้วยการเลือกใช้วิธีการใดๆ สำหรับการเจรจาในกระบวนการขออนุญาตใช้สิทธิเทคโนโลยี หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ก็มักจะจบลงที่การใช้ราคาที่เกิดจากการเจรจาต่อรอง (Negotiated price) ซึ่งเป็นราคาที่สองฝ่ายยอมรับ โดยอาจไม่สอดคล้องกับมูลค่าที่เกิดจากการประเมินเทคโนโลยีเลย อันก่อให้เกิดการเสียประโยชน์ระหว่างเจ้าขององค์ความรู้หรือผู้พัฒนาเทคโนโลยี กับผู้ที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่เสมอ
ดังนั้นในบทความตอนต่อๆไปในเรื่องของการประเมินมูลค่าเทคโนโลยีนี้ จะได้กล่าวถึงแนวทางการประเมินมูลค่าเทคโนโลยี เช่น กำหนดตัวแปรหรือสมมติฐานต่างๆ รวมถึงวิธีการประเมินมูลค่าเทคโนโลยีแบบต่างๆ โดยการประเมินมูลค่าเทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทย มักอยู่ในรูปแบบหรือใช้วิธีการประเมินที่อ้างอิงจากวิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน (Property valuation) เช่น การประเมินตามวิธีรายได้ วิธีราคาตลาด วิธีต้นทุน เนื่องจากมองว่าเทคโนโลยีเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible asset) หรือเทคโนโลยีเป็นทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) หรือเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ งานวิจัย สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร โดยเฉพาะการประเมินด้วยวิธีรายได้อันเป็นวิธีการพื้นฐานและที่นิยมในการประเมินมูลค่า ด้วยวิธีการคำนวณกระแสเงินสดคิดลด (Discount cash flow – DCF) สำหรับการประมาณการรายได้ ผลกำไรที่เกิดขึ้น เพื่อคำนวณย้อนกลับเป็นมูลค่าเทคโนโลยีในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) หรือการจัดทำแผนธุรกิจ ซึ่งการประเมินโดยการใช้แนวทางการประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวแม้ว่าจะถูกต้อง แต่อาจจำเป็นต้องทำความเข้าใจตัวแปรอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีด้วยเช่นกัน รวมถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีต่อธุรกิจ (Technology contribution) อีกทั้งวิธีการต่างๆที่กล่าวถึงแต่ละวิธีนี้ ทั้งวิธีรายได้ วิธีราคาตลาด วิธีต้นทุน ต่างก็มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยหรือมีความเหมาะสมสำหรับใช้ในการประเมินมูลค่าที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมยังมีวิธีการประเมินมูลค่าเทคโนโลยีแบบอื่นๆ ที่มีการใช้ประเมินด้วยเช่นกัน เช่น วิธีมาตรฐานอุตสาหกรรม (Industry standard) วิธีการให้ลำดับ (Ranking / Rating) วิธีประมูล (Auctions) วิธีการประเมินมูลค่าทางเลือกจริง (Real option) หรือวิธีประเมินแบบอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งในเนื้อหาของบทความในตอนต่อๆไปจะได้กล่าวถึงวิธีการเหล่านี้ เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการประเมินที่อาจไม่คุ้นเคยกันในวงกว้าง เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการประเมินได้อย่างเหมาะสมสำหรับเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน หรือภายใต้ขอบเขตของการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีที่อาจแตกต่างกันออกไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
เสริมพล รัตสุข. (2553). แนวทางการวางแผนและการจัดการโครงการวิจัย (Guidelines for Planning and Managing Research Projects). (น. 1-5). ปทุมธานี: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย.