การเติบโตของธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ..โอกาสของผู้พัฒนาเทคโนโลยี (ตอนที่ 1) 1307 Views

รายละเอียด

บทความโดย Tech2Biz

        ชั่วโมงนี้ กระแสการเกิดขึ้นและขยายตัวของ “ธุรกิจสถานพยาบาล /โรงพยาบาล” ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก เรียกได้ว่า “ฮิต” มากเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในภาวะซบเซา ชะลอตัว  โดยธุรกิจให้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพมีขนาดตลาดสูงถึง 600,000 ล้านบาท และมีอัตราเติบโตต่อเนื่องกว่าร้อยละ 10 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน และธุรกิจสินค้าและบริการด้านสุขภาพอื่นๆ จากปัจจัยหนุนต่างๆ อาทิ การเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูง การขยายตัวของชุมชนเมือง การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุที่ต้องการการดูแลรักษา การเดินทางที่สะดวกจากประเทศเพื่อนบ้าน การท่องเที่ยว Medical Tourism ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง รวมทั้งนโยบายของ Medical Hub ที่รัฐบาลให้การส่งเสริมสนับสนุน 

        การเติบโตสูงนำมาซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพในปัจจุบัน ส่งผลให้สถานพยาบาลหลายแห่งจำเป็นต้องปรับปรุงรูปแบบการให้บริการ ซึ่งแนวทางหนึ่งคือ  การพัฒนานวัตกรรมการให้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพที่ทันสมัย นอกเหนือจากการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและเพิ่มโอกาสในการดึงดูดลูกค้ามากขึ้น  ตัวอย่างล่าสุดที่สถานพยาบาล / โรงพยาบาลในประเทศไทยที่พยายามพัฒนานวัตกรรมในการให้บริการ เช่น 

  • โรงพยาบาลสงขลานครินทร์  ได้พัฒนาระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล (Hospital Information System) เข้ามาช่วยในกระบวนการรักษาพยาบาลให้มีความคล่องตัวขึ้น เริ่มตั้งแต่การรับผู้ป่วยเข้ามาในระบบ ผ่านงานเวชระเบียนที่เก็บข้อมูลของผู้ป่วย อาทิ เช่น ประวัติการรักษา การแพ้ยา ตารางนัดแพทย์ สิทธิในการรักษาพยาบาล (ประกันสังคม, ข้าราชการ, บัตรทอง) โดยแพทย์และเภสัชกรสามารถดูประวัติคนไข้ได้ทันที ลดปัญหาการจ่ายยาผิดและการคลาดเคลื่อนของข้อมูล ทำให้กลายเป็นระบบต้นแบบของโรงพยาบาลทั่วประเทศ

ภาพจาก http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9600000021759

 

  • โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประสบผลสำเร็จในการพัฒนา “นวัตกรรมการรักษาผู้ป่วยโรคหืดเรื้อรังขั้นรุนแรง โดยใช้วิธีจี้หลอดลมด้วยความร้อน (Bronchial Thermoplasty) และการส่องกล้อง”แทนการใช้ยาในรูปแบบเดิม  ถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย นวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยลดปริมาณการกินยาและฉีดยาได้เป็นเวลานานถึง 5 ปี ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยปีละหลายแสนบาทต่อคน

ภาพจาก http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9600000021759

 

  • รพ.ศิริราช  ร่วมกับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (อิโบ้) และบริษัท ฟีโบ้ สุพรีม จำกัด ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “หุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติ” โดยหุ่นยนต์จ่ายยาจะรับใบสั่งยาจากแพทย์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ก่อนจะจัดยาส่งไปที่เภสัชกรผ่านระบบสายพานลำเลียง ช่วยลดความผิดพลาดในการจ่ายยา และลดเวลาจ่ายยาผู้ป่วยเหลือ 10-15 นาที โดยมีแผนติดตั้งและใช้งานจริงปลายปี 2560 นี้


ภาพจาก http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/745310

 

  • โรงพยาบาลรามาธิบดี พัฒนาคิดค้น “วิธีการรักษาโรคลูคิเมียและธาลัสซีเมียด้วยการปลูกถ่ายไตและไขกระดูกจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด” ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการไปรักษาในต่างประเทศถึง 10 เท่า
  • โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประดิษฐ์ แว่นตา ( PMK Glasses Navigator ) สำหรับผู้ป่วยที่สูญเสียการมองเห็นให้ฝึกเดินทางด้วยตัวเองผ่านระบบเซ็นเซอร์ ทดแทนการใช้ไม้เท้า โดยจะช่วยบอกระยะห่างระหว่างผู้ใช้กับสิ่งกีดขวางด้านหน้าได้


ภาพจาก https://daily.rabbit.co.th/แว่นติดเซ็นเซอร์

 

  • โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สถานพยาบาลที่ให้บริการแพทย์แผนไทย ซี่งนอกจากใช้สมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค แล้วยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพร ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อาหารฟังก์ชันสำหรับวัยต่างๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาอีกมากมาย 


ภาพจาก http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/634537

 

        ตัวอย่างเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาของธุรกิจสถานพยาบาล / โรงพยาบาลต่างๆ ที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการให้บริการของตัวเอง รวมทั้งเปิดรับไอเดียและแสวงหาความร่วมมือกับนักวิจัยและหน่วยงานภายนอกเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น  จึงนับเป็นโอกาสของนักวิจัย นักประดิษฐ์ในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจสถานพยาบาล / โรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยยกระดับ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ  

        ตอนต่อไปเราจะมาดูว่าโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีของนักวิจัยไทยจะอยู่ตรงไหน ท่ามกลางการเติบโตของธุรกิจให้บริการสุขภาพในขณะนี้  และมีโจทย์อะไรบ้างสำหรับนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบความต้องการของธุรกิจ 

Tech2biz
Admin Tech2biz